วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เมืองโบราณ ณ เมืองแป้



เมืองโบราณ

พละนคร เป็นชื่อเมืองของชนชาติลัวะกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบเชิงดอยที่ต่อมาได้รับการขนานนามว่า ดอยผ้าแพร หรือ โกสิยะธัชชบรรพต ตัวเมืองพละนครได้โอบล้อมม่อนดอยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เอาไว้ เอกสารทางประวัติศาสตร์เริ่มบันทึกไว้ว่า พละนคร สร้างขึ้นโดยมี ขุนหลวงพละ เป็นผู้นำในปี พ.ศ.๑๓๗๑ หลังจากนั้นมีเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครครองเมืองสืบต่อกันมาคือ ขุนพหุสิงห์ ขุนพนมสิงห์

กาลต่อมาประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ ขอมได้ขยายอำนาจมาทางดินแดนแถบนี้และได้ครอบครองพละนครเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งถึงสมัยของ ขุนวังสุพละ เป็นเจ้าผู้ครองพละนคร ได้ขับไล่ขอมออกไปในปี พ.ศ.๑๕๒๕ และได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้สงบสุขดังเดิม ภายหลังจากนั้นอาจจะเป็นสมัยของพระองค์เองหรือสมัยของเจ้าผู้ครองนครพละองค์ต่อมา(ให้เปรียบเทียบกับชื่อของขุนลัวะผู้ชื่อว่า สุละอ้ายค่อม ในตำนานพระธาตุช่อแฮ) อิทธิพลของพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามา เจ้าผู้ครองนครพละได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อทราบว่าเมืองหนึ่งที่ใกล้พละนครมีพระบรมธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์จึงกรีฑาทัพออกไปแย่งชิง ดังปรากฎในตำนานวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ว่า “จำเนียรกาลพายหน้าแต่นั้น ยังมีสามันตราชตน ๑ ชื่อว่า พระยาพละราช เสวยราชสมบัติในที่ใกล้เมืองลัมพกัปปนคอรนี้ รู้ข่าวว่าสรีระธาตุพระพุทธะมีในเมืองลัมพกัปปนคอร พระยาไคร่ได้จิ่งมาด้วยจาตุรงคเสนา รอดแล้วก็ตั้งราชวัติอยู่พระยาก็หื้อคนขุดหาที่ผะจุธาตุลงพายต่ำ ก็จวบแผ่นเงินหลบหลังยนต์นั้นพระยาก็หื้อเอาแผ่นเงินออกมาแล้วก็ขุดลงเล่า ถองยนต์ก็บ่อาดเพื่อจักขุดได้กว่านั้น...พระยามีใจเคียดนักจิ่งหื้อถมยนต์นั้นขึ้นมาแล้วก็ฆ่าคน ๔ คนอันผิดไว้ในท่ำกางขุมเอาหัวสุมกันเหยียดตีนไปทิสสะทัง ๔ เพื่อจักหื้อรักสาสรีระธาตุพระเปนเจ้า แล้วพระยาจิ่งหื้อถมเพียงดินดังเก่า...พระยาพละราชจักไคร่กดหมายที่ฐปันนสรีระธาตุพระเปนเจ้าไว้จิ่งปลูกไม้คะชาวต้น ๑ ในกางขุมแล้วก็หื้อปลูกไม้คะชาวไว้พายนอกแวดรอดชู่ก้ำเปนที่สังเกดแลพระยาพละราชก็เอาจตุรงคเสนาตนคืนเมือสู่เมืองวันนั้นแล” หลังจากนั้นอีกไม่นานเจ้าผู้ครองนครพละคงจะได้พระบรมสารีริกธาตุจากที่ไหนสักแห่งหนึ่ง(?) พระองค์จึงได้สร้างพระบรมธาตุไว้ ณ บนดอยศักดิ์สิทธิ์ภายในเวียงพละนั้นเพื่อเป็นที่สักการะ โดยใช้ต้นชองแค่(ไม้รัง) เป็นสัญลักษณ์

เมื่อเวลาล่วงผ่านไป เมืองต่างๆรอบพละนครนั้นคงจะเริ่มมีอำนาจขึ้นมา เจ้าผู้ครองนครพละเกรงว่าจะกระทบถึงความมั่นคงของบ้านเมืองแห่งตนจึงได้สร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกเพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากข้าศึก มีนามเวียงว่า เวียงแพล่ อันหมายถึงเมืองที่กว้างขยายออกมา ในตำนานพระธาตุแช่แรกล่าวว่า “ถัดนั้นมามีขุนผู้ ๑ ได้กินเมืองนั้นเมียขุนผู้นั้นมีลูกฝาแฝดขุนผู้นั้นจิ่งว่าเมืองเรานี้แพ่พอกออกหลายสันนี้จักมีกำลังมากนักห่อนมีชะแลเหตุดั่งอั้นจิ่งใส่ชื่อมหาพละนคอรไทยว่าเมืองแพล่แล” สำหรับความหมายของคำว่า แพ่ นั้นเมื่อสอบทานกับตำนานเชียงใหม่ปางเดิมที่กล่าวว่า “คนทังหลายก็อยู่สุคติมานะทังลัวะแลไท ก็อยู่เมินนานมากนักแล้ว คนทังหลายก็แพ่ออกมาหลาย...เขาก็ว่าเราทังหลายก็ควรดีสร้างเวียงแถมใหม่สักลูก ๑ คน เราทังหลายก็มีมากนักมาแล้วแล” คำว่า แพ่ ก็มีความหมายเหมือนกัน เหมือนกับเมืองสองแต่เดิมก็ตั้งอยู่ ณ เวียงเทพ ต่อมาย้ายมาตั้งเวียงใหม่จึงได้นามว่า เวียงสอง หมายถึงเวียงที่สอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งนามเจ้าเมืองสองว่า พระทุติยรัฐบุรินทร์ คำว่า ทุติย แปลว่า สอง แม้แต่ชาวอโยธยาก็ทราบว่าเวียงเทพคือเมืองสอง ดังนั้นในลิลิตพระลอจึงเรียกว่า เวียงสรวง ซึ่งคำว่า สรวง แปลว่าที่อยู่แห่งเทพนั่นเอง ส่วนตำนานวัดหลวงกล่าวว่าเวียงใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม สร้างโดย ขุนหลวงพละ(ชื่อเหมือนกัน จึงทำให้มีการสับสนระหว่างผู้ที่สร้างเวียงพละและเวียงแพล่ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน)

การย้ายเวียงมาคราวนี้พระองค์คงไม่ได้ขุดเอาพระธาตุมาด้วยดังนั้นพระบรมธาตุจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เดิม แต่เพื่อให้มีสิ่งสำคัญทางพระพุทธศาสนาพระองค์จึงได้สร้างวัดทางพระพุทธศาสนาขึ้นนามว่า วัดหลวง ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่คือ พระเจ้าแสนหลวง แต่กระนั้นก็ตามเจ้าเมืองแพล่องค์ต่อๆมาก็เดินทางไปสักการะพระบรมธาตุอยู่มิได้ขาดจนเป็นที่มาของชื่อ พระธาตุช่อแร ตามตำนานพระธาตุช่อแรที่กล่าวว่า “ขุนทั้งหลายฝูงกินเมืองพละนครนั้นก็เทียรย่อมไบปู่ชาธาตุพระพุทธเจ้าด้วยช่อแพรหร้อ(เมืองลื้อสิบสองพันนา)ทุกเมื่อ กระทำสันนี้ชุปีแล เหตุดั่งอั้นดอยอันนั้นลวดได้ชื่อว่า โกสิยธัชชบัพพ คือ ดอยช่อแพร เพื่ออั้น” ขณะนั้นมหาพละนคอรประกอบด้วย บ้านละหื่ง บ้านกอน(บริเวณพระธาตุดอยเล็ง) บ้านเวื้อง บ้านกวางนอน(บริเวณที่เป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมแจ้ง) บ้านวา(บริเวณที่เป็นที่ตั้งของพระธาตุพูแช-ภาษาล้านนาอ่านว่า ปูแจ) บ้านชาว(ภาษาล้านนาอ่านว่า จาว) และ บ้านตีบ

พ.ศ.๑๖๑๓ พญาผาวงศ์อินทร์ เป็นผู้ครองนครแพล่ ขอมยกกองทัพมาโจมตีอีก เมืองแพล่จึงเสียเมืองให้กับขอม จากนั้นขอมได้ตีไปทางแคว้นหริภุญไชยจนถึงแคว้นโยนกช้างแส่น

พ.ศ.๑๖๕๔ ขุนเจืองได้มาคล้องช้างที่เมืองแพล่ พญาพรหมวังโส เป็นเจ้าเมืองแพล่ได้ยกธิดาชื่อนางแก้วให้

พ.ศ.๑๗๑๙ พญาพีระไชยวงศ์ ครองเมืองแพล่ มอญจากแคว้นหริภุญไชยยกกองทัพมารุกราน ทำให้เมืองแพล่ตกเป็นเมืองขึ้นในแคว้นหริภุญไชยนับตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเจ้าผู้ครองนครแพล่ได้ร่วมกับเจ้าเมืองมอญชื่อ มังการะ นำพระธาตุจากเมืองหงสาวดีมาสร้างพระบรมธาตุ ณ วัดหลวง ชื่อว่า พระธาตุไชยช้างค้ำ และเรียกชื่อวัดหลวงว่า วัดไชยวงศ์ หลังจากนั้นเมืองแพล่ต้องเป็นเมืองขึ้นในแคว้นหริภุญไชยจนถึงปี พ.ศ.๑๘๒๕ นับเป็นระยะเวลาร้อยกว่าปีที่เมืองแพร่ต้องสูญเสียเอกราชทางการปกครองของตนเอง อิทธิพลของมอญที่แพร่เข้ามาทำให้มีการเรียกชื่อเมืองเป็นภาษามคธ มอญสมัยนั้นคงจะทราบดีว่าเมืองแพร่เดิมตั้งอยู่ ณ เวียงพละเดิม ซึ่งในขณะนั้นเหลือเพียงพระบรมธาตุเพียงสิ่งเดียวบนดอยช่อแพรแห่งนั้น นามเมืองแพร่ที่ชื่อว่า เวียงโกศัย คงจะมีมาด้วยเหตุนี้

พ.ศ.๑๘๒๔ เจ้าผู้ครองเมืองแพ่ชื่อ พญาบอน เป็นโอรสของพญายี่บา เจ้าเมืองหริภุญไชย ขณะนั้นพญามังรายแห่งเมืองหิรัญเงินยางได้ยกกองทัพมาโจมตีเมืองลำพูน พญายี่บาแพ้จึงหนีมาทางเมืองเขลางค์ พญาบอนจึงยกกองทัพพลศึก ๗๐๐๐ ออกไปช่วยรบแต่พ่ายแพ้ พญาบอนสิ้นชีพที่ทุ่งข้าวสาร ชาวแพล่แตกหนีกระเจิงไป

บทความที่เกี่ยวข้อง
http://www.donpraphrae.com/index.php?mo=3&art=362252

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น