วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้หญิงในวัยไหน ควรตรวจอะไร?

อายุ 10-29 ปี

ตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูก

หมายถึง การตรวจระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีและการตรวจหามะเร็งปากมดลูกหรือ แป๊ป เทสต์ (Pap Test) ช่วงนี้เป็นวัยเจริญพันธ์ตามธรรมชาติ การตกไข่ การมีประจำเดือน การมีเพศสัมพันธ์เริ่มและมีมาก และปัจจุบันพบว่าโรคทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเรื่องของการติดเชื้อ HIV (Human Papiloma Virus) เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งที่ปากมดลูก ดังนั้น ไม่ว่าจะอายุน้อยแค่ไหน แต่เมื่อไรที่มีเพศสัมพันธ์หรืออายุ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ควรเริ่มตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว การตรวจนั้น หมอจะดูที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดงหรือแผลใด ๆ จากนั้นจะใช้เรื่องมือที่คล้ายปากเป็ดยาว ๆ ขนาดไม่ใหญ่ใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อจะได้มองเห็นผนังช่องคลอดหรือปากมดลูก แล้วหมอจะเอาไม้แบน ๆ และแปรงเล็ก ๆ เขี่ยเอาเซลล์ที่ปากมดลูกและรูปากมดลูกออกมาป้ายบนแผ่นกระจกใสแช่น้ำยา เพื่อส่งไปให้หมอทางพยาธิวิทยาดูว่ามีความผิดปกติในทางที่จะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งหรือไม่ จากนั้นก็จะเอาเครื่องมือออกแล้วหมอจะเอานิ้วมือสอดเข้าไปในช่องคลอด และเอาอีกมือกดที่หน้าท้องเพื่อช่วยคลำขนาดของมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ โดยปกติแล้วควรตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การตรวจวัดความดันโลหิต

ปกติทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาลจะต้องวัดความดันโลหิตอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่เคยเจ็บป่วยอะไรเลย ทุก ๆ 2 ปี ควรจะวัดความดันโลหิตสักครั้ง ซึ่งไม่ควรเกิน 140/90 มม./ปรอท แต่ถ้าเป็นคนน้ำหนักมากหรือมีใครในครอบครัวที่มีความดันโลหิตสูงอยู่ ควรวัดปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ตรวจคอเรสเตอรอล

หากมีระดับคอเรสเตอรอลสูงจะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนั้น ถ้าอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจหาคอเรสเตอรอล ทุก ๆ 5 ปีเป็นอย่างน้อย โดยการเจาะเลือดไปตรวจ
ตรวจผิวหนัง

ถ้ามีไฝขรุขระหรือผิวมีสีแตกต่างไป ควรให้แพทย์ช่วยดูแลให้อย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี แต่ถ้ามีลักษณะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะใหญ่ขึ้นหรือสีเปลี่ยนก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทีนทีเพราะอาจเป็นเรื่องของมะเร็งที่ผิวหนัง

ตรวจเต้านม

ควรตรวจด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงคือช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของการมีรอบเดือน เพราะจะทำได้ง่ายและตรวจสอบได้ถูกต้องแน่นอนว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติอะไรในเต้านมตนเองหรือไม่ แล้วเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ค่อยไปให้หมอช่วยตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรแน่ ๆ ทุก ๆ 3 ปี เป็นอย่างน้อย

ตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์

ควรพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดหาโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และการติดเชื้อไวรัส เริม หนองใน ไวรัส HPV Chlamydia เป็นต้น

ตรวจฟัน

โดยปกติระยะเวลาที่ฟันเริ่มเสียจนกระทั่งเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่เกิน 6 เดือน ดังนั้น จึงควรตรวจสุขภาพฟันทุก ๆ 6 เดือน เป็นอย่างน้อย

ตรวจตา

ถ้าปกติไม่มีปัญหาอะไรก็ควรตรวจวัดสายตาทุก 3 ปี เป็นอย่างน้อย แต่ถ้ามีความปกติไม่ว่าจะสายตาสั้น ตาเอียง ก็ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


อายุ 30-49 ปี

เอกซเรย์เต้านม (Mammogram)

การตรวจหามะเร็งที่เต้านมได้พบตั้งแต่ยังเล็ก ๆ อยู่นั้นจะทำให้การรักษาได้ผลดี การทำ x-rays Mammogram จะทำให้พอแยกแยะได้ว่าก้อนที่เต้านมที่เกิดขึ้นมีลักษณะในทางที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือไม่ และเราสามารถที่จะพบมันได้ แม้ว่าก้อนจะยังเล็กจนคลำด้วยมือพบได้ยากก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลสรุปที่แน่นอนว่า ควรทำ Mammogram บ่อยเพียงใด บางสถาบันบอกว่าถ้าอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรทำทุก 1-2 ปี บางสถาบันบอกว่าควรทำทุก 1 ปี โดยเฉพาะถ้ามีประวัติมะเร็งที่เต้านมในครอบครัว (การทำ Mammogram นั้น จะใช้แผ่นพลาสติกใสบีบรัดเต้านมให้แผ่แบนมากที่สุดรวมถึงท่อน้ำเหลืองที่ใต้รักแร้ด้วย โดยทำในท่าขนานกับลำตัว และตั้งฉากแนวนอนกับลำตัว เพื่อจะได้เห็นทุกระนาบโดย x-rays และใช้เครื่องเสียงความถี่สูง (Ultrasonogram) เพื่อช่วยตรวจหาก้อนเหล่านั้นอีกด้วย ในการทำต่อเนื่องประกอบกันตอนบีบเต้านมเพื่อ x-rays นั้น อาจรู้สึกเจ็บบ้างแต่ก็ไม่มากจนทนไม่ได้) และเพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดและรู้สึกเจ็บน้อยที่สุด ควรทำตอนที่เต้านมไม่คัดตึง คือ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของรอบเดือน นับจากประจำเดือนมาวันแรก

ตรวจหาเบาหวาน

อาจตรวจได้ทุก ๆ ปี และเพื่อให้ได้ผลตรวจแน่นอน ควรงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดตรวจอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ถ้ามีน้ำหนักมากหรือมีประวัติการเป็นเบาหวานในครอบครัว หรือถ้าอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ควรตรวจปัสสาวะปีละครั้งเป็นอย่างน้อย

ตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูก

ประจำเดือนผิดปกติหรือการปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าทีความผิดปกติที่มดลูกได้ ควรบันทึกการมีประจำเดือนไว้เสมอว่า วันแรกของทุกครั้งคือเมื่อไหร่ มากี่วัน ใช้ผ้าอนามัยวันละกี่ผืน มีเลือดเป็นก้อนหรือไม่ เพื่อความง่ายและถูกต้องแม่นยำในการค้นหาสาเหตุของโรค ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตรวจทวารหนัก
อายุหลัง 40 ปี ทุกครั้งที่ตรวจภายในก็ควรตรวจทางทวารหนักด้วย เพื่อดูว่ามีสิ่งผิปกติใด ๆ บ้าง การตรวจนั้นแพทย์จะเอานิ้วสอดเข้าไปในรูทวารหนักสูงขึ้นไปเหนือหูรูดทวารหนักเพื่อคลำดูผนังของมันรวมทั้งเนื้อเยื่อชิ้นระหว่างผนังช่องคลอดและทวารหนักด้วย โดยเฉพาะถ้ามีประวัติการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวก็ควรบอกแพทย์เพื่อตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อค้นหาแต่เนิ่น ๆ

ตรวจคอเรสเตอรอล

ระหว่างอายุ 40-60 ปี ผู้หญิงมักจะมีระดับคอเรสเตอรอลสูงขึ้นจากระดับเดิมได้ง่ายขึ้นเพราะการขาดเอสโตรเจนในช่วงหลังจากหมดประจำเดือน ดังนั้นควรตรวจเลือดหาระดับคอเรสเตอรอลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตรวจผิวหนัง

หลังจากอายุ 40 ปี ควรตรวจผิวหนังปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อยเพื่อค้นหามะเร็งผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับผิวสีคล้ำผิดปกติหรือไฝที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตรวจฟัน
อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป อาจเกิดโรคเหงือกบางชนิดได้บ่อยขึ้นจึงควรตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

ตรวจฝากครรภ์

ในกรณีตั้งครรภ์ การตรวจฝากครรภ์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ได้ลูกที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ที่สุด และแม่มีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด โดยเฉพาะถ้าแม่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการดูโครโมโซมของลูกว่าผิดปกติใด ๆ หรือไม่ด้วย ซึ่งมักจะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 17 สัปดาห์ โดยการเจาะน้ำคร่ำเพื่อเอาเซลล์เด็กออกมาหาโครโมโซม การเจาะน้ำคร่ำอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้บ้าง แต่แพทย์จะใช้อัลตร้าซาวด์ช่วยนำทางให้เห็นถึงการแทงเข็มในจุดที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด

ตรวจตา

ปัญหาสายตามักเกิดขึ้นในวัย 40 ปีขึ้นไป เมื่อเริ่มอ่านหนังสือไม่เห็นในระดับความห่างเท่าเดิม เมื่อเริ่มมีปัญหาควรตรวจได้เลย แต่ถ้าไม่มีปัญหา ควรตรวจทุก ๆ 2 ปีเป็นอย่างน้อย



อายุ 50-69 ปี

ตรวจหัวใจ

โดยมากผู้หญิงจะเริ่มเป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงก็หลังจากหมดประจำเดือน ซึ่งมีเอสโตรเจนลดลง จะทำให้สมดุลของไขมันในเลือดผิดไปจากเดิม ทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น ดังนั้น จึงควรดูระดับคอเรสเตอรอลในเลือด วัดความดันโลหิตและตรวจคลื่นหัวใจ (Electric Cardiogram) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตรวจหามะเร็งลำไส้

ทุกปีเป็นอย่างน้อย ควรตรวจอุจจาระว่ามีเลือดปนเปื้อนออกมาหรือไม่ และตรวจทางทวารหนักด้วยนอกจากนี้ควรตรวจ Sigmoidoscopy คือ การเอากระบอกเล็ก ๆ มีรูเปิดบนร่างสอดเข้าไปในทวารหนักถึงลำไส้ส่วนล่างสุด เหนือหูรูดขึ้นไปเพื่อดูผนังลำไส้ว่าผิดปกติใด ๆ บ้าง ควรทำทุก 5 ปี และบางกรณีต้องทำ Colonoscopy ด้วยการส่องกล้องผ่านเข้าทางทวารหนักเพื่อดูตลอดแนวของลำไส้ใหญ่ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

ตรวจ Mammogram

ถ้าอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ทุก ๆ สถาบันมักจะแนะนำเหมือน ๆ กันว่าควรทำ Mammogram ทุก ๆ ปี

ตรวจภายในและมะเร็งปากมดลูก

ถึงแม้จะลดหรือเลิกการมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว แต่ควรตรวจภายในทุกปี ปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ตรวจความหนาแน่นของกระดูก

ผู้มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มากกว่า 50% พบว่า กระดูกเสื่อมสลาย ผุกร่อน พรุนบางลง ทำให้กระดูกหักง่ายและต่อติดยาก การวัดความหนาแน่นทางกระดูกมักจะทำ 3 จุดโดยการ x-rays ที่กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลังและข้อมือ และถ้าพบว่ากระดูกบางก็จะได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนหรือยาอื่น ๆ เพิ่มแคลเซียม และการออกกำลังกาย ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกอย่างน้อย 1 ครั้งในวัยเริ่มหมดประจำเดือน
ตรวจการได้ยินเสียง

การได้ยินเสียงจะลดลง ในคนอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปและเป็นการยากที่จะหยุดยั้งการเสื่อมสลายของระบบนี้ แต่แพทย์จะช่วยให้ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อลดภาระการทำงานหนักของหูชั้นกลางได้

ตรวจตา

ต้อกระจกและต้อหินมักจะเป็นสาเหตุของการมองไม่เห็นในคนอายุนี้ ควรตรวจสายตาทุก 1-2 ปี และเมื่ออายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี เพื่อช่วยให้ความเสื่อมของสายตาช้าลงและลดการเกิดปัญหาต่อเนื่องได้

เรียบเรียงจากบทความของ พ.ญ.นิศานาถ ธนะภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น