วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ผู้ทำให้สิ้นสุดตระกูล ณ แพร่

เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ผู้ทำให้สิ้นสุดตระกูล ณ แพร่


เรื่องนี้ลงไปหลายทีแล้ว จึงขออนุญาติเอามาลงอีก สาเหตุเพราะต้องการลงรูปเจ้าเมืองแพร่ให้ดูเท่านั้นครับ ส่วนเรื่องราวสำหรับคนที่ไม่ทราบมาก่อนได้ดูละกัน เพราะชาวโลกล้านนาส่วนใหญ่มีความรู้ในเรื่องนี้ดีแล้ว
พวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ได้คบคิดกันก่อการจลาจลขึ้นในเมืองแพร่ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ วันศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา พวกไทยใหญ่นำโดย พะกาหม่องและสะลาโปไชย หัวหน้าพวกโจรเงี้ยวนำกองโจรประมาณ ๔๐ - ๕๐ คน บุกเข้าเมืองแพร่ทางด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจเป็นจุดแรก ขณะนั้นสถานีตำรวจเมืองแพร่มีประมาณ ๑๒ คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวเข้ายึดอาวุธตำรวจแล้วพากันเข้าโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โจรเงี้ยวได้ตัดสายโทรเลขและทำลายอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เพื่อตัดปัญหาการสื่อสาร

ครั้นแล้วก็มุ่งหน้าสู่บ้านพักข้าหลวงประจำเมืองแพร่ แต่ก่อนที่กองโจรเงี้ยวจะไปถึงบ้านพักข้าหลวงนั้น พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ได้พา ครอบครัวพร้อมด้วยคุณหญิงเยื้อน ภริยาหลบหนีออกจากบ้านพักไปก่อนแล้ว พวกโจรเงี้ยวไปถึงบ้านพักไม่พบพระยาไชยบูรณ์จึงบุกเข้าปล้นทรัพย์สินภายในบ้านพักข้าหลวง และสังหารคนใช้ที่หลงเหลืออยู่จนหมดสิ้น จากนั้นจึงยกกำลังเข้ายึดที่ทำการเค้าสนามหลวง ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด ๔๖,๙๑๐ บาท ๓๗ อัฐ หลังจากนั้นพวกโจรเงี้ยวก็มุ่งตรงไปยังเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระพร้อมกับ แจกจ่ายอาวุธให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้พวกกองโจรเงี้ยวได้กำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจนภายหลังมีกำลังถึง ๓๐๐ คน ในระหว่างที่กองโจรเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการต่างๆ อยู่นั้น ราษฎรเมืองแพร่ตื่นตกใจกันมาก

บางส่วนได้อพยพหลบออกไปอยู่นอกเมืองทันที กองโจรเงี้ยวจึงประกาศให้ราษฎรอยู่ในความสงบ เพราะพวกตนจะไม่ทำร้ายชาวเมืองจะฆ่าเฉพาะคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ราษฎรจึงค่อยคลายความตกใจลง และบางส่วนได้เข้าร่วมกับพวกกองโจรเงี้ยวก็มี ทำให้กองโจรเงี้ยวทำงานคล่องตัวและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันพระยาไชยบูรณ์ซึ่งพาภริยา คือ คุณหญิงเยื้อนหลบหนีออกจากบ้านพักตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ หวังขอพึ่งกำลังเจ้าเมืองแพร่หรือเจ้าหลวงเมืองแพร่ คือ พระยาพิริยวิไชย เมื่อไปถึงคุ้มเจ้าหลวง เจ้าหลวงเมืองแพร่กล่าวว่า "จะช่วยอย่างไรกัน ปืนก็ไม่มี ฉันก็จะหนีเหมือนกัน"

พระยาไชยบูรณ์ตัดสินใจพาภริยาและหญิงรับใช้หนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์เพื่อหวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบ ส่วนเจ้าเมืองแพร่นั้นหาได้หลบหนีไปตามคำอ้างไม่ ยังคงอยู่ในคุ้มตามเดิม ตอนสายของวันที่ ๒๕ กรกฎาคม เมื่อกองโจรเงี้ยวสามารถยึดเมืองแพร่ได้แล้ว พะกาหม่องและสะลาโปไชยก็ไปที่คุ้มเจ้าหลวง เพื่อเชิญให้เจ้าเมืองแพร่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ก่อนจะปกครองเมือง พะกาหม่องได้ให้เจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานทำพิธีถือ น้ำสาบานก่อน โดยมีพระยาพิริยวิไชยเป็นประธานร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงครามและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ รวม ๙ คน ในพิธีนี้มีการตกลงร่วมกันว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพของรัฐบาลโดยพวกกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้าออกสู้รบเอง

ส่วนเจ้าเมืองและคนอื่นๆ เป็นกองหลังคอยส่งอาหารและอาวุธตลอดทั้งกำลังคน วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พวกกองโจรเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชการไทยและคนไทย ภาคกลางทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรีที่หลบหนีไปโดยประกาศให้รางวัลนำจับ เฉพาะค่าหัวพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ยกบัตรเมืองแพร่ คนละ ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาท นอกนั้นลดหลั่นลงตามลำดับความสำคัญ แต่อย่างต่ำจะได้ค่าหัวคนละ ๔๐ บาท วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมาเป็นเวลา ๓ วัน กับ ๒ คืน โดยหลบซ่อนอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้ๆ กับหมู่บ้านร่องกาด ได้ออกจากที่ซ่อนเพื่อขออาหารจากชาวบ้านร่องกาด ราษฎรคนหนึ่งในบ้านร่องกาดชื่อหนานวงศ์ จึงนำความไปแจ้งต่อพะกาหม่องเพื่อจะเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับพระยาไชยบูรณ์ทันที

จับตัวได้ก็ควบคุมตัวกลับเข้าเมืองแพร่ และได้บังคับขู่เข็ญพระยาไชยบูรณ์ตลอดทาง พระยาไชยบูรณ์จึงท้าทายให้พวกโจรเงี้ยวฆ่าตนเสียดีกว่า ดังนั้นพอมาถึงทางระหว่างร่องกวางเคา (ปัจจุบันเรียกว่าร่องคาว) โจรเงี้ยวคนหนึ่งชื่อ จองเซิน จึงคิดฆ่าพระยาไชยบูรณ์ทันที นอกจากพระยาไชยบูรณ์แล้ว พวกโจรเงี้ยวยังได้จับข้าราชการไทยอีกหลายคนฆ่า ที่สำคัญได้แก่ พระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง นายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งยิ่งใหญ่จริงๆ ในภาคเหนือ ทางรัฐบาลไทยได้ส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง เช่น พิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่

เข้ามาปราบปรามพวกกองโจรเงี้ยวอย่างรีบด่วน โดยกำหนดให้ทุกเมืองระดมกำลังเข้าปราบปราม พวกกองโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน และยังได้มอบหมายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำกองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามพร้อมทั้งให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ด้วยและให้ถือว่าเป็น "กบฏ" ด้วย ดังนั้นจึงเรียกว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวเมื่อสามารถก่อการกบฏได้สำเร็จก็ไม่ได้ตระเตรียมกำลังป้องกันแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อทราบข่าวว่ากองทัพรัฐบาลจะมาปราบปรามจึงได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชย ยกกำลังไปทางด้านใต้เพื่อขัดตาทัพ รัฐบาลที่ส่งมา อีกกองหนึ่งนำโดยพะกาหม่อง

ยกกำลังไปทางด้านตะวันตกเพื่อโจมตีนครลำปางหวังยึดเมืองเป็นฐานกำลังอีกแห่งหนึ่ง การโจมตีนครลำปางนั้น พวกกองโจรเงี้ยวต้องประสบกับความผิดหวัง เพราะนครลำปางรู้เหตุการณ์และเตรียมกำลังไว้ต่อสู้อย่างรวดเร็ว เมื่อพวกเงี้ยวไปถึงนครลำปางในวันที่ ๓ สิงหาคม จึงถูกฝายนครลำปางตีโต้กลับทำให้ กองโจรเงี้ยวแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายไป ตัวผู้นำคือ พะกาหม่องต้องสูญเสียชีวิตเพราะถูกยิงในระหว่างการต่อสู้ ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวที่นำโดยสะลาโปไชยนั้น ในระยะแรกสามารถสกัดทัพเมืองพิชัยไว้ได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานทัพเมืองสวรรคโลกและสุโขทัยได้ จึงถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองแพร่ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม แต่ในที่สุดพวกโจรเงี้ยวก็หนีกระจัดกระจายไปเพราะต่อสู้ไม่ไหว ดังนั้น ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย จึงนำกองกำลังตำรวจภูธรและทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าเมืองแพร่ได้สำเร็จ วันที่ ๒๐ สิงหาคม

เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ก็นำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ หลังจากเหตุการณ์สงบลงหลายวันแล้ว เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงทำการสอบสวนความผิดผู้ เกี่ยวข้องทันที ขั้นแรก ได้สั่งจับชาวเมืองแพร่ ราษฎรบ้านร่องกาด คือ หนานวงค์ ที่หวังเงินรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์มาประหารชีวิตเป็นเยี่ยงอย่างก่อน ขั้นที่สอง สั่งให้จับตัว พญายอด ผู้นำจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตอีกคนหนึ่ง จากนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สอบสวนพยานหลายคน โดยยึดถือตามแนวนโยบายที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงกำชับไว้ คือ ไม่ให้ตั้งข้อสงสัย หรือกล่าวหาเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานล่วงหน้า เมื่อสอบสวนพยานเสร็จไปหลายคน ก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และ เจ้านายบุตรหลานบางคน เช่น เจ้าราชบุตร

เจ้าไชยสงครามอย่างแน่นหนาว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฎครั้งนี้ ดังคำให้การของพระยาเขื่อนขัณฑ์อดีตนายแคว้น (กำนัน) เมืองสอง เป็นคนที่เจ้าเมืองแพร่ไว้วางใจ ได้กล่าวให้การไว้ตอนหนึ่งว่า "เจ้าแพร่พูดว่า เมืองแพร่ต่อไปจะเป็นของไทยนานเท่าใด จะต้องเป็นเมืองของเงี้ยว เจ้าแพร่จะคิดให้พะกาหม่อง สะลาโปไชย ซึ่งเป็นหัวหน้าเงี้ยวบ่อแก้วเข้ามาตีปล้นเมืองแพร่ พวกเงี้ยวจะจับคนไทยฆ่าเสียให้หมด แต่พะกาหม่องและสะลาโปไชยจะยกเข้าตีเมืองแพร่เมื่อใดยังไม่มีกำหนด ถ้าจะให้พะกาหม่องและสะลาโปไชยยกเข้าตีเมืองแพร่วันใด จะได้มีหนังสือไปนัดพะกาหม่องและสะลาโปไชยทราบ เจ้าแพร่ได้สั่งข้าพเจ้าว่า เมื่อออกนอกราชการแล้ว อย่ามาเที่ยวเกะกะ วุ่นวายทำราชการกับไทย

เมื่อเงี้ยวมันเข้าตีบางทีจะถูกปืนตายเสียเปล่า ผู้ที่ร่วมคิดให้เงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่คราวนี้ เจ้าหลวงบอกข้าพเจ้าว่า พระยาราชบุตร พระไชยสงคราม เป็นผู้ร่วมคิดด้วย" นอกจากนั้น ก่อนที่พวกโจรเงี้ยวเข้าปล้นเมืองแพร่ก็ได้ส่งข่าวมาบอกเจ้าเมืองแพร่ไว้แล้ว ดังคำให้การของหลวงจิตรจำนงค์ เจ้าของสัมปทานป่าไม้มีความว่า "พระไชยสงครามไปที่บ้านข้าพเจ้าว่า วันที่ ๒๔ กรกฎาคม เวลากลางคืนประมาณ ๓ ทุ่มเศษ พวกเงี้ยวมีหนังสือมาบอกเจ้าแพร่ว่าถ้าในกลางคืนนี้ไม่ทัน ก็จะยกเข้าปล้นเวลาเช้ามืด" เจ้าเมืองแพร่รู้เหตุการณ์ล่วงหน้าจึงได้ป้องกันภัยแก่ญาติและคนสนิท ดังนายส่างกราบ ผู้

ดูแลคุ้มหลวงได้ให้การไว้ตอนหนึ่งว่า "ครั้นข้าพเจ้าเข้านอนเฝ้าคุ้มหลวงได้ ๖ คืน เจ้าหลวงก็บอกข้าพเจ้าว่า พวกเงี้ยวจะพากันเข้ามาปล้นเมืองแพร่วันพรุ่งนี้รู้หรือเปล่า ข้าพเจ้าก็บอกว่าไม่รู้ เจ้าหลวงจึงบอกข้าพเจ้าไปเอาปืน ๑๒ นัดที่บ้านพระไชยสงครามมาป้องกันตัวไว้ ๑ กระบอก" ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคมนั้น เจ้าเมืองแพร่ก็ได้เรียกตัว เจ้าพลอยแก้ว หลานสาวซึ่งไป คลุกคลีอยู่ในบ้านพักข้าหลวงกับคุณหญิงเยื้อน ภริยาของพระยาไชยบูรณ์ให้กลับคุ้มด่วน เพราะเกรงอันตรายจากพวกเงี้ยวจะเกิดแก่เจ้าพลอยแก้ว เมื่อพวกกองโจรเงี้ยวปล้นเมืองแพร่สำเร็จแล้ว เจ้าเมืองแพร่ได้แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนพวกโจรเงี้ยวอย่างเด่นชัด โดยเกณฑ์ข้าวสารชาวบ้านหลังคาละ ๒ ทะนาน อาวุธปืน กระสุนดินดำ เงิน และกองกำลัง จำนวน ๕๐ คน ส่งไปช่วย พะกาหม่องต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล จากหลักฐานต่างๆ

ที่กล่าวมาทำให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าใจว่า เจ้าเมืองแพร่ เจ้า ราชบุตร เจ้าไชยสงคราม มีส่วนสนับสนุนให้กองโจรเงี้ยวก่อการกบฏขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าต้องมีการตระเตรียมการล่วงหน้ามาช้านานพอสมควร ก่อนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะได้ชำระความผิดผู้ใด เจ้าราชวงษ์และภริยาก็ตกใจกลัวความผิดดื่มยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อน เพราะได้ข่าวลือว่ารัฐบาลจะประหารชีวิตผู้เกี่ยวข้องกับกบฏเงี้ยว ทุกคน เมื่อเกิดอัตวินิบาตกรรมขึ้นเช่นนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเกรงว่าจะเป็นการสร้างความ เข้าใจผิดกันว่ารัฐบาลกระทำการรุนแรงต่อเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นจะสืบหาพยานต่อไปอีกหลักฐานก็จะผูกมัดเจ้าเมืองแพร่ และเจ้านายบุตรหลานที่เกี่ยวข้องยิ่งขึ้น จนในที่สุดจะต้องถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏอย่างแน่นอน

หากคดีจบในรูปนั้นย่อมกระทบกระเทือนใจเจ้านายฝ่ายเมืองเหนือทุกเมือง เพราะต่างเกี่ยวพันฉันท์ญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนด้วยกัน ทั้งยังสร้างความสะเทือนใจแก่ราษฎรทั้งหลายในลานนาไทย ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักศ์มนตรี จึงพยายามคิดหาวิธีที่ละมุนละม่อมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งต้องการใช้วิธีผ่อนปรนต่อเจ้านายเมืองแพร่ ขณะเดียวกันก็พยายามไม่ให้เจ้านายเมืองแพร่ตื่นตกใจหนีเข้าพึ่งอิทธิพลอังกฤษ อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศได้ ในที่สุด เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ใช้วิธีปล่อยข่าวว่าจะมีการจับกุมตัวเจ้าเมืองแพร่และ เจ้าราชบุตร ข่าวลือนี้ได้ผล เพราะตอนดึกคืนนั้น เจ้าเมืองแพร่พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคนก็หลบหนีออกจากเมืองแพร่ทันที อย่างไรก็ดี

การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่ในคืนนั้นได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยา สุรศักดิ์มนตรี โดยมีคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของ เจ้าเมืองแพร่เป็นไปอย่างสะดวกจนถึงหลวงพระบางอย่างปลอดภัย เมื่อเจ้าเมืองแพร่หนีไปได้ ๑๕ วัน ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ จึงเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีสามารถออกคำสั่งถอดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ทันที พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวงที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฏก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าเมืองแพร่คนสุดท้ายได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบางจนถึงแก่พิราลัย สำหรับเจ้าราชบุตร ผู้เป็นบุตรเขยเจ้าเมืองแพร่นั้น มีพยานหลักฐานและพฤติการณ์บ่งชัดว่าได้รู้เห็นเป็นใจกับพวกเงี้ยวเพราะโดยหน้าที่ เจ้าราชบุตรเป็นร้อยตำรวจเอกจะต้องนำกำลังออกต่อสู้ต้านทานพวกโจรเงี้ยว แต่ปรากฏว่าเจ้าราชบุตรไม่ได้ทำหน้าที่อันควรกระทำ กลับไปทำสิ่งตรงกันข้ามคือ เป็นผู้เกณฑ์กำลังออกไปสนับสนุนพวกโจรเงี้ยว ทั้งยังส่งกระสุนดินดำพร้อมเสบียงอาหารให้พวกเงี้ยว

พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดขั้นรุนแรงมีโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายหลีกเลี่ยงการประหารชีวิต เพราะไม่ประสงค์จะให้กระทบกระเทือนใจเจ้านายเมืองเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าราชบุตรเป็นบุตรชายของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน หากกระทำตามกฎเกณฑ์ก็จะกระทบกระเทือนใจเจ้าเมืองน่าน ดังนั้น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงสั่งให้ร้อยตำรวจเอกเจ้าราชบุตรนำกองกำลังตามขึ้นไปตีพวกโจรเงี้ยวที่แตกไปอยู่ตำบลสะเอียบ อันเป็นวิธีสร้างความดีลบล้างความผิด ซึ่งร้อยตำรวจเอกเจ้าราชบุตรก็สามารถกระทำงานที่มอบหมายสำเร็จคือตีพวกกองโจรเงี้ยวจนแตกพ่ายไป ได้ริบทรัพย์จับเชลยกลับมาเป็นจำนวนมาก ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๖ เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน

ได้ขอย้ายเจ้าราชบุตรไปรับราชการที่เมืองน่าน และขอรับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าราชดนัย อันเป็นตำแหน่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นชอบด้วย เมื่อพิจารณา สาเหตุกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ ประการแรก เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในเมืองแพร่นับตั้งแต่ช่วงจัดการ ปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นตอนที่รัฐบาลยุบเลิกฐานะเมืองประเทศราชและรวมอำนาจเข้าสู่ ส่วนกลาง ดังจะเห็นได้ว่าฐานะทางการเมืองนั้น เจ้าเมืองมีแต่เกียรติยศ ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะอำนาจสิทธิขาดตกเป็นของข้าหลวง ซึ่งเป็นข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลาง ในทางด้านเศรษฐกิจก็ถูกตัดทอนผลประโยชน์ลงสร้างความไม่พอใจแก่เจ้าเมือง และ เจ้านายบุตรหลานทั้งหลายในแต่ละเมือง จึงปรากฏปฏิกิริยาออกมาในลักษณะต่างๆ กัน

เช่นที่เชียงใหม่เจ้านายบุตรหลานไม่พอใจเรื่องลดผลประโยชน์เป็นอันมาก เมืองแพร่ตกอยู่ในสภาพลำบาก เนื่องจากในช่วงที่พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้จัดการอย่าง รุนแรงและบีบบังคับยิ่งกว่าเมืองอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าเมืองแพร่เพิ่งจะจัดการปกครองเป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๓๗ ในครั้งนั้น ด้านการคลังพระยาทรงสุรเดชยังผ่อนปรน ไม่ได้แบ่งเงินผลประโยชน์ของ เจ้าเมืองออกจากเงินแผ่นดิน ดังนั้น เจ้าพิริยเทพวงศ์จึงเก็บรักษาเงินปนกันหมด และนำเงินหลวงมาจ่ายในกิจการป่าไม้ของตนก่อน โดยเข้าใจว่าเป็นเงินของตน เมื่อพระยาศรีสหเทพตรวจสอบการเงินก็พบว่าเงินหลวงขาดไป จึงสั่งกักขังเจ้าเมืองแพร่ไว้จนกว่าจะหาเงินมาชดใช้ให้ครบภายใน ๒๔ ชั่วโมง เจ้านายบุตรหลานต้องหาเงินมาชดใช้จนครบ เจ้าเมืองแพร่จึงได้รับการปล่อยตัว นับเป็นการกระทำที่บีบคั้นจิตใจและไม่ให้เกียรติกัน

นอกจากนั้นยังกำหนดอัตราการใช้จ่ายเงินของเจ้าเมืองแพร่ไม่ให้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จนกระทั่งกำหนดให้ใช้เงินเพียงเดือนละ ๒,๐๐๐.- บาท และจะต้องขอยืมจากท้องพระคลังก่อน ประการที่สอง เนื่องจากเงี้ยวชาวเมืองและราษฎรพื้นเมืองให้การสนับสนุนกองโจรเงี้ยว การโจมตีเมืองแพร่ มิใช่มีแต่บรรดาเจ้านายเมืองแพร่เท่านั้นที่สนับสนุนพวกโจรเงี้ยว ชาวเมืองก็จับอาวุธขึ้นช่วยพวกกองโจรเงี้ยวด้วย ทั้งนี้ มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากชาวเงี้ยวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจาก รัฐฉานเข้ามาอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในมณฑลพายัพเป็นเวลานานแล้ว พวกเงี้ยวส่วนใหญ่มักเป็นผู้ทำมาหากินตามปกติและปะปนอยู่กับชาวบ้านเมืองแพร่ ทำให้มีความสนิทสนมกันเป็นอันดี เมื่อเกิดความทุกข์ยากลำบากใจจึงร่วมมือสนับสนุนทันที

การจัดรูปการปกครองเมืองแพร่ตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลของเมืองแพร่ ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทางราชการได้ประกาศให้รวมหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นเป็นมณฑล โดยจัดให้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองลำปาง รวมเป็นมณฑลเรียกว่ามณฑลมหาราษฎร์และให้ตั้งที่ว่าการมณฑลขึ้นที่จังหวัดลำปาง ผู้สำเร็จราชการมณฑล ๓ ท่าน คือ - มหาเสวกตรี พระยาเพชรรัตนราชสงคราม (เลลื่อง ภูมิรัตน) - จางวางตรี พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (ชม โชติกะพุกกะณะ) - มหาเสวกโท พระยาเดชานุชิต (หนา บุนนาคค) ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ทางราชการได้สั่งให้รวมมณฑลมหาราษฎร์กับมณฑลพายัพดังเดิม มีที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทางราชการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยแบ่งเป็นภาคๆ เมืองแพร่จัดอยู่ในภาคที่ ๕ ที่ทำการภาคตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางราชการได้ประกาศยกเลิกการปกครองแบบภาค ให้ทุกจังหวัดขึ้นตรงรัฐบาลกลางที่กรุงเทพมหานคร

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การจัดรูปการปกครองเมืองแพร่ในสมัยปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๘) ส่วนภูมิภาค จังหวัดแพร่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งมี รายละเอียด ดังนี้ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ที่ตั้งห่างจากจังหวัด เมืองแพร่ ๑๖ ๙๓ ที่ตั้งจังหวัด สูงเม่น ๑๑ ๖๙ ๑๒ ร้องกวาง ๑๓ ๘๕ ๓๐ สอง ๗ ๔๘ ๔๙ ลอง ๗ ๖๖ ๔๓ เด่นชัย ๕ ๓๖ ๒๔ วังชิ้น ๕ ๔๗ ๗๙ รวม ๖๔ ๔๔๔ ส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ แห่ง เทศบาลเมืองแพร่ ๑ แห่ง สุขาภิบาล ๙ แห่ง สภาตำบล ๖๓ แห่ง

http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_topic.php?id=8627

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น